วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

ข้อควรรู้ที่สำคัญ 2

          จากประสบการณ์ตรงอีกเช่นเคย  จีจี้อยู่ดีดีก็แทะขาตัวเอง  ด้วยอาจจะเพราะความหงุดหงิดหรือเหงาหรืออะไรก็ไม่ทราบ  วันนั้นช่วงเช้าผมตื่นมาเห็นที่ขาของจีจี้พันด้วยผ้าพันแผล  เป็นลูกใหญ่  และชุ่มไปด้วยเลือด  จากการสอบถามคนที่บ้านเล่าให้ฟังว่าภาพแรกที่เห็น  จีจี้ขาพันติดอยู่กับของเล่นในกรงที่เป็นเชือกทักเส้นใหญ่ๆ  มีการหลุดลุ่ยจากที่จีจี้แทะมันเอง  จึงพยายามตัดเชือกนั้นออกมา  แต่ก็พบว่าจีจี้ได้แทะนิ้วเท้าและเล็บเท้าของตัวเองเข้าไปจนถึงกระดูก ขาดออก จนเนื้อหลุดรุ่ย
          ผมก็ไม่รีรอ  รีบพาจีจี้ไปหาสัตว์แพทย์ใกล้บ้าน  ปรากฎว่าจีจี้ต้องตัดเนื้อที่เสียออกและทำแผล  แต่เรื่องยังไม่จบแค่นั้น  เพราะจีจี้ยังคอยแทะผ้าพันแผลที่เป็นสิ่งแปลกปลอม  จนกระทั่งไปถึงนิ้วเท้าอีก  จึงต้องมีการนำเครื่องป้องกันมาติด  ที่เค้าเรียกว่าคอลี่  อันนี้ผมไม่แน่ใจว่าเรียกถูกไม๊  แต่เคยเห็นมันใช้กับสุนัข  ตามแบบในรูปเลยนะครับ 





          
          จึงอยากฝากเตือนผู้เลี้ยง  ว่าให้ระวังเรื่องของเล่นของนกที่อาจจะเกิดอันตรายกับมันได้  และรวมไปถึงสภาวะอารมณ์ของเค้าด้วย  เพราะหลังจากที่หาทางออกไม่ได้ผมจึงต้องพาจีจี้ไปพบโรงพยาบาลสัตว์ที่เกษตร  จึงได้รู้ถึงอุปนิสัยแปลกๆที่จะเกิดกับนก  เวลาที่เค้าเหงาหรือรู้สึกเครียด  อย่างเช่นเรื่อง  แทะหางตัวเอง  หรือแทะขาตัวเอง  ปรกอบกับว่า  เค้าจะสามารถเห็นสีแดงได้ชัดมากกว่าสีอื่น  นั่นก็หมายความว่า  เวลาที่แทะอะไรไปจนเลือดออกก็จะยิ่งแทะไม่หยุดนั่นเอง

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

ข้อควรรู้ที่สำคัญ 1

          จากประสบการณ์ตรงในการเลี้ยงนกกระตั้ว  เกิดเหตุการณ์ที่เกือบจะไม่ได้เลี้ยงต่อ  นั่นคือนกกระตั้วที่บ้านผม  กระเพาะมันรั่ว-ซึม  มันเป็นยังไง??  เดี๋ยวลองอ่านดูนะครับ
        
          บทความนี้จะไม่มีรูปภาพนะครับ  เหตุการณ์มันเกิดขึ้นเร็วมากและวุ่นวายมากๆด้วย  ผมเลยไม่มีสติพอที่จะบันทึกภาพเก็บไว้  เรื่องมันมีอยู่ว่า  ช่วงสองเดือนแรกของการเลี้ยงดูนั้น  ที่บ้านผมก็ป้อนอาหารให้นกปกติ  โดยมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันว่าใครว่าช่วงไหน  ยังไง  จำได้ว่าช่วงนั้น  เราป้อนกันถึง 3 มื้อและยังป้อนในปริมาณที่เยอะมากด้วย  เพราะนกมีปฏิกิริยาตอบสนองที่ทีดีในการกิน  เราก็เลยให้กิน  แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ประเด็นทั้งหมด  มันยังเกี่ยวกับอนุภูมิของอาหารด้วย  ที่ผมย้ำเตือนกันหนักหนา  ในบทความก่อนก็เพราะเหตุนี้นั่นเอง

          ก่อนที่จะมารู้ว่าต้องทำยังไง  ผมเกือบทำนกที่ทั้งอยากเลี้ยงและยังซื้อมาในราคาแพง  ตายไปแล้ว คือตอนแรกที่รู้ก็เริ่มจาก  ตรงช่วงหน้าอกของนก  ขนของมันข่อนข้างเปียกหมาดพอสมควร  และบ่อยมาก  สีออกเหลืองๆครีม  เอากระดาษ  เอาผ้าไปเช็ด  สักพักก็เป็นเหมือนเดิม  และเหมือนจะหิวโหยกับอาหารมากกว่าปกติ  เราจึงเริ่มค้นหาคำตอบกัน  จนกระทั่งเปิดขนตรงหน้าอกขึ้นดู  ซึ่งมารู้ภายหลังว่า  ด้นล่างของหน้าอกนั้น  คือกระเพาะอาหารของนกนั่นเอง  และตอนนั้นมันก็มีอาหารไหลซึมออกมา  ที่บ้านตกใจกันมาก  รีบพาไปโรงพยาบาลสัตว์ ตรงแยกเกษตร  จึงได้ความว่า ...

          กระเพาะอาหารมันเปือย  เหตุเพราะอุณหภูมิของอาหารที่ป้อนประกอบกับปริมาณของอาหารที่ป้อนเข้าไป มันเยอะเกินไป  ทำให้ใช้เวลาย่อยนาน  ทำให้อาหารที่มีอุณหภูมิสูงนั้นอยู่ในกระเพาะนานด้วย  จึกเกิดการเปื่อยนั่นเอง  ทำให้ต้องตัดส่วนที่เปื่อยออก  ทำให้นกตัวที่ผมเลี้ยงอยู่นี้  มีกระเพาะเล็กกว่านกตัวอื่นในสายพันธ์เดียวกัน  นั่นก็ย่อมทำให้นกผมโตน้อยลง  กว่านกตัวอื่นเช่นกัน  ทั้งที่นกของผมก็เลี้ยงมา 2ปีแล้วขนาดที่น่าจะเป็นไปได้ควรมีขนาดใหญ่กว่าตอนนี้   ... บทความนี้จึงนำมาเตือนท่านที่ยังไม่ทราบเรื่องนี้  แล้วจะนำมาเลี้ยง  หรือที่เลี้ยงอยู่แล้วก็ตาม
        

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อุปกรณ์เพิ่มเติม

สำหรับอุปกรณ์เพิ่มเติมนะครับ  จะเรียกว่าเป็นอุปกรณ์ที่ควรที่มีก็ได้หรือไม่ก็ได้  แต่สำหรับผมถือว่าเป็น    
          อุปกรณ์สำคัญอีกชิ้นนึง  นั่นคือ คอนไม้ครับ ... คอนไม้เป็นอุปกรณ์สำคัญอีกชิ้นที่ควรมีเพราะว่า  นอกจากเราจะเลี้ยงนกกระตั้วให้อยู่ในกรงแล้ว  เราควรนำนกออกมาอยู่ภายนอกบ้าง  นอกจากจะได้ผ่อนคลายแล้วยังเพิ่มความใกล้ชิดสนิทสนม  ระหว่างผู้เลี้ยงกับตัวนกด้วย  และที่น่าสนใจและเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงก็คือสุขภาพของขานก เพราะว่าเวลาที่นกได้ยืนบนคอนนั้นนกจะทรงตัวได้ดีกว่าพื้นผิวที่เรียบ  และยังป้องกันการฉีกขาดของเล็บอีกด้วย  สำหรับที่บ้านผมนั้นใช้ตามแบบในรูปนะครับ  เป็นแบบเคลื่อนที่ได้สะดวกและสามารถทำความสะอาดได้ง่ายครับ


ในรูปผมนำถาดไปทำความสะอาดนะครับ  จะเห็นได้ว่าข้างล่าง  เป็นล้อสามารถเคลื่อนที่่ได้สะดวกครับ

          ผู้เลี้ยงบางท่านอาจเป็นกังวล  กลัวว่าจะไม่ปลอดภัยหรือกลัวนกจะบินหนีไป  บางท่านอาจมีการใช้ห่วงล็อคขาให้ติดกับคอนไว้ เป็นแบบที่สามารถถอดตัวสายออกได้เพื่อป้องกันอันตราย  หรือผู้เลี้ยงบางท่านอาจจะใช้วิธีอื่น เช่นการตัดปีกด้านในก็ได้  เพราะการใส่ห่วงอาจทำให้นกกระตั้วของท่านรู้สึกอึดอัด  แต่การตัดนั้นอาจต้องใช้ความชำนาญบ้างก็จะปลอดภัยกว่า  และนกกระตั้วที่บ้านผมก็เลือกใช้วิธีนี้เช่นกัน
          ที่เลือกใช้วิธีตัดปีกนั้นก็เพราะว่า  นกกระตั้วที่บ้านไม่ให้ความร่วมมือในการใส่ห่วงที่ขาเลย  และหลังจากมีการตัดปีกและ  นกก็อาจจะยังสามารถบินได้  แต่เป็นการบินต่ำ  คือหมายถึงว่า บินจากสูงลงต่ำอย่า  จากคอนลงมาที่พื้น  จะไม่สามารถบินขึ้นได้    จะเห็นได้ว่านกจะมีความอิสระมากกว่า


วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อุปกรณ์ในลำดับต่อๆมา

          ในบทความก่อนหน้านี้ผมได้  พูดถึงอุปกรณ์ในการป้อนอาหารและวิธีการป้อนอาหารไปแล้วนะครับ สำหรับบทความนี้นั้น  จะพูดถึงอุปกรณ์ชิ้นต่อๆมา  จะไล่ไปตามลำดับความสำคัญนะครับ
          สำหรับอุปกรณ์ที่จะพูดเป็นชิ้นแรกเลยนั้นก็คือ  กรงครับ  กรงนกนั้นเป็นอุปกรณ์สำคัญอีกหนึ่งชิ้น  ที่สำคัญต่อมาจากอาหารการกิน  เพราะนกนั้นเป็นสัตว์ปีกครับ  มันย่อมบินได้  อีกทั้งกรงจะช่วยแบ่งเบาการดูแลได้มาเลยที่เดียว  เพราะบางเวลาที่เราไม่อยู่บ้านนั้น  เราก็คงต้องพึ่งเจ้ากรงนี่แหละที่จะฝากนกของเราได้  กรงนกที่จะเลี้ยงนกกระตั้วได้นั้นต้องมีขนาดใหญ่พอสมควร  ตัวผมเองก็ไม่ทราบว่ามาตรกรงที่ใช้เลี้ยงนกกระตั้วขนาดมันต้องเท่าไหร่  แต่ที่บ้านผมใช้ขนาดประมาณ 100X180 ซม.
      


ตามในรูปภาพเลยนะครับ  ผมว่ามันใหญ่พอตัวเลยนะสำหรับนก 1ตัว  และมีพื้นที่พอที่จะใส่ของเล่นต่างๆเข้าไปได้อีกด้วย  สำหรับที่นับเป็นอุปกรณ์ที่จะใส่เข้าไปในกรงนก  ก็จะมีถ้วยน้ำ,ถ้วยอาหาร,และอีกชิ้นที่ขาดไม่ได้  คือ คอนที่ให้นกยืนครับ  ส่วนที่เหลือที่จะใส่เข้าไปในกรงผมขอเรียกว่า  เป็นของเล่นของนกก็แล้วกันครับ



วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อุปกรณ์และการเลี้ยงดูเบื้องต้น

          สำหรับอุปกรณ์และการดูแลเบื้องต้นครับ
สำหรับนกกระตั้วที่เป็นลูกป้อนนั้น  ยังไม่สามารถจะกินอาหารเองได้  ดังนั้นเราก็จะมีอุปกรณ์ที่ใช้เบื้องต้น  ที่สำคัญเป็นชิ้นแรกๆเลย  ก็คือ สลิงค์ที่ใช้ป้อนอาหาร สายยางสวมปลายสลิงค์ และก็อาหารเหลวครับ  เป็นอาหารที่เป็นผงนะคัรบ  แล้วนำมาชงกับน้ำร้อนเหมือ อาหารเด็ก(ซีลีแลค) ผมไม่รู้ว่าเค้าใช้ยี่ห้อไหนกัน ที่บ้านผมใช้ยี่ห้อตามรูปภาพเลยนะครับ




          การเตรียมอาหารและการป้อนนะครับ  สำหรับบ้านผมจะ  ต้มน้ำร้อนให้เดือด  แล้วนำไปชงกับอาหารผง ในรูป  ประมาณมื้อละ 2ช้อนชา (พอชงออกมาใช้สลิงค์ดูดขึ้นมา  จะอยู่ที่ 30-40 ซีซี  ครับ) ชงกับน้ำร้อนนะครับ  ค่อยๆใส่น้ำร้อนลงไปทีละนิดๆ  ดูว่าไม่ให้เหลวและข้นจนเกินไป  จากนั้นก็พักไว้ให้เย็นสนิดก่อนนะครับ  และต่อมาพอเย็นแล้ว แนะนำว่าให้ใช้นิ้วจุ่มลงไปเลย  ต้องเย็นแบบนิ้วเราไม่ใด้รู้สึกอุ่นเลยยิ่งดีมากครับ  แล้วค่อยนำสลิงค์มาดูด  แล้วจึงนำไปป้อนครับ  ลูกนกกระตั้วเวลาหิวเค้าจะตอบรับการป้อนเป็นอย่างดีมาก  เหมือนว่าเราเป็นแม่มาให้อาหารเลยก็ว่าได้
          ในคลิปวีดีโอที่ลงไว้นี้  เป็นขั้นตอนหลังการชงอาหาร ซึ่งกำลังจะเตรียมนำไปป้อนแล้วครับ

กดที่ลิงค์ได้เลยนะครับ ...  สำหรับคลิปวีดีโอ
http://www.youtube.com/watch?v=fSUgSGlLtjM





วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ทำไมชื่อ จีจี้

       ครับ ... ขอพูดถึงก่อนหน้าที่ผมจะได้นำนกกระตั้วมาเลี้ยงที่บ้านนะครับ
คือตอนนั้น ที่บ้านอยากได้นกตัวใหญ่ๆ ขี้เล่นๆสักตัวมาเลี้ยง  ก็มองดูระหว่างนกแก้วมาคอร์ กับเจ้ากระตั้วนี่ แหละครับ  ทำให้ที่บ้านเริ่มหาข้อมูลต่างๆมาเรื่อย  จนกระทั่งตัดสินใจว่าเป็นกระตั้ว  เพราะจากข้อมูลที่ว่า มันจะขี้เล่นและเป็นกันเองมากกว่า คุย-พูดเก่งกว่า ตอบสนองง่ายกว่า  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อมด้วยนะครับ
      
       เริ่มต้นเลย  คืออยู่มาวันนึงผมก็เห็นมีผู้ชายคนนึงมาที่บ้าน พร้อมกับนกกระตั้ว 3 ตัวด้วยกัน เท่าที่จำได้นะ  นก 3 ตัวที่ว่านั้นมี เลเซอร์,เกรทเตอร์ และอีกตัวเป็นลูกผสมระหว่าง มิเดียม กับบลูอาย  ถ้าผมจำไม่ผิดนะ  นกทั้ง 3 ตัวเป็นลูกป้อนนะครับ  เป็นลูกนกด้วย อายุราว 2 เดือนได้มั้ง  เพราะตอนเจอกันก็เริ่มมีขนปิดจะเต็มตัวแล้วครับ  ซึ่งพอมาถึงตอนนี้ก็ต้องเลือกแล้วครับว่าตัวไหน  ซึ่งมองจากตาแล้วผมเองก็มองเกรทเตอร์อยู่ก่อนแล้ว  เพราะขนแน่นตัวก็ใหญ่กว่าตัวอื่น  ดูมีสุขภาพดีกว่า  แล้วยังมีขนใกล้ๆตรงปากด้วย แต่ก็ดูความเห็นจากที่บ้านด้วยว่าจะเอาไงกัน  ตอนนั้นเห็นเลเซอร์จะดูเพรียวๆ ส่วนตัวลูกผสมตาจะออกหวานๆหน่อย  และแล้วทุกคนก็ลงความเห็นไปที่ เกรทเตอร์ จนได้

       มาถึงขั้นตอนของการตั้งชื่อครับ  คือต้องท้าวความก่อนว่า  ก่อนหน้าที่จะเลี้ยงนกกระตั้ว  ผมไปพาสุนัขมาเลี้ยงหนึ่งตัว  เป็นพันธุ์บีเกิ้ล 2 สี  แล้วก็ตั้งชื่อว่า จีจ้า ครับ  นกกระตั้วตัวนี้ก็เลยได้ชื่อ จีจี้ ไปแบบงงๆ  แต่อีกเหตุผลนึงที่ได้ชื่อนี้มาเพราะที่บ้านอยากให้เป็นตัวเมีย ซึ่งตอนนั้นยังไม่สามารถรู้เพศของมันได้  เค้าบอกแต่ว่าถ้าเป็นตัวเมีย  พอเริ่มโตเต็มที่ตาจะมีสีแดง  แล้วที่อยากให้เป็นตัวเมียก็เพราะว่า  ที่บ้านอยากเอาไปจับคู่กับ โมลัคคัล (ตัวที่กว่าถึงไปในบทความก่อนหน้านี้)  ซึ่งถ้ามันเป็นตัวเมียจริงๆ เค้าก็บอกว่ามีความเป็นไปได้ที่จะจับคู่กัน

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เริ่มแรกกับกระตั้ว


       นกกระตั้ว (Cockatoo) มีหลายสายพันธุ์ เยอะแยะมากมาย ซึ่งบางสายพันธุ์นั้นตัวผมเองก็ไม่รู้จัก และไม่เคยเห็นตัวเป็นๆของมันด้วยซ้ำ จำได้ว่าเคยเห็นนกสีขาวมีขนสีเหลือง มีตัวขนาดใหญ่พอๆกับ นกแก้วมาคอร์ ครั้งแรกในชีวิต ก็คือที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ย่านบางกะปิ ร้องเสียงดังมาก ลั่นห้างเลย
       ..ต่อมา เจอกันครั้งที่สอง ตอนไปงานวันเกิดญาติผู้ใหญ่แถวย่านพระราม 3 เป็นนกที่เจ้าของร้านอาหารคงเลี้ยงไว้ มันขี้เล่นมาก และเชื่องมากด้วย ตอนแรกก็กลัวๆอยู่เหมือนกัน เห็นมันนิ่งๆ จะจับก็กลัวมันจะกัด แต่สุดท้ายก็สนิทกันจนได้ หรืออาจเพราะว่าร้านอาหารมีคนเข้า-ออกเป็นจำนวนมาก ทุกๆวัน ซึ่งผมก็มาทราบภายหลังว่า กระตั้วตัวนั้นเป็นสายพันธุ์ มิเดียม (Medium Sulphur-crested Cockatoo) ที่ขึ้นชื่ออยู่แล้วว่า ขี้เล่นมาก
       ..และอีกตัวที่เจอ ก่อนจะได้เริ่มนำมาเลี้ยงเอง คือมีพี่ที่รู้จักเค้าก็เลี้ยงอยู่ เลี้ยงมาเป็นปีๆแล้ว ตัวขนาดใหญ่พอสมควร แต่ผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่ามันอายุเท่าไหร่ มันคือ นกกระตั้ว-โมลัคคัล (Moluccan Cockatoo)


เป็นแบบเดียวกับในรูปเลยครับ แต่ไม่ใช่ตัวเดียวกันนะครับ คือโมลัคคัล  เป็นกระตั้วสีขาวตัวขนาดใหญ่ แต่มีเอกลักษณ์เฉพาะคือ ขนที่อยู่บนหัวและใต้ปีกจะเป็นสีส้มโอรส ขนด้านบนหัวจะตั้งเหมือนผม ทรงโมฮอก แต่ผมเองก็ไม่สามารถเล่นกับมันได้ ไม่รู้ว่ามันดุหรือว่าอย่างไร หรืออาจจะเพราะพี่เค้าเลี้ยงไว้ภายในบ้าน อาจจะทำให้มันจำเฉพาะคนในบ้าน เลยไม่ค่อยคุ้นคนก็เป็นได้ แต่ผมชอบมันนะ โดยส่วนตัวผมเป็นคนชอบสีส้มด้วย และความนิ่งของมันทำให้ยิ่งน่าค้นหาน่าสนใจ ...

วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ข้อมูลเพิ่มเติม

รูปร่างและความแข็งแรงของจะงอยปาก 

          นกกระตั้วใช้จะงอยปากจิกที่ผิวหนังของมนุษย์ จะทำให้เกิดรอยถึง 3 จุดในครั้งเดียว โดย 2 จุดแรกจะเกิดจากจะงอยปากล่าง และอีก 1 จุด เกิดจากจะงอยปากบน และนกกระตั้วยังมีแรงกัดมากอีกด้วย ส่วนนกแก้วโดยทั่วไปจะไม่ซุกซนโดยใช้จะงอยปากเท่ากับนกกระตั้ว นกกระตั้วสามารถกัดจานอาหารพลาสติก และราวเกาะให้หักและขาดออกจากกันได้ นอกจากนี้มันยังสามารถงอซี่ของกรงและหักข้อต่อของกรงได้อีกด้วย ดังนั้นประตูกรงของนกกระตั้ว จึงต้องมีความแข็งแรงและปลอดภัย การเลือกข้อกรงที่มีความเหมาะสมจึงเป็นสิ่งจำเป็นเบื้องต้นที่ต้องคำนึงถึงในการเลี้ยงนกกระตั้ว ควรหลีกเลี่ยงประตูที่สามารถเลื่อนลง เพราะขณะที่นกทำกิจกรรมต่างๆในกรงอาจทำให้อุปกรณ์ในการเปิดปิดทำงาน โดยประตูจะเลื่อนขึ้นและตกลงมาใส่ตัวนกทำให้นกเกิดอันตรายได้

       นกกระตั้วเป็นนกที่ฉลาดและคล่องแคล่วเป็นอย่างมาก เราจึงไม่ควรวางใจในการใช้กรงทั่วๆ ไปที่มีขายตามท่องตลาด ซึ่งมีการปิดเปิดและอุปกรณ์ล็อกแบบธรรมดา เราควรเพิ่มอุปกรณ์พิเศษ เช่น คลิปสปริง เพื่อให้แน่ใจว่านกจะไม่สามารถเปิดประตูกรงหนีไป ขณะที่เราไม่อยู่บ้าน


ขนนก กระตั้ว

          นกกระตั้วมักจะมีขนเพียงสีเดียว โดยทั่วไปแล้วจะเป็นสีขาวหรือสีดำ ซึ่งมีผงแป้งเคลือบขนอยู่ แสดงถึงสุขภาพขนที่ดี นกกระตั้วนั้นมีลักษณะพิเศษที่ต่างจากนกชนิดอื่นๆ คือจะมีหงอนที่สามารถขยับได้ โดยหงอนนั้นจะมีลักษณะตามชนิดของนกกระตั้ว เช่น หงอนที่โค้งไปด้านหลัง หรือหงอนที่โค้งไปด้านหน้า 

          นอกจากนี้ นกกระตั้วยังมีขนแก้มซึ่งเมื่อลุกตั้งชันจะปกคลุมจะงอยปากและหูที่ซ่อนอยู่จนเกือบมิด ซึ่งเป็นการแสดงออกทางใบหน้าอย่างหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เอง นกกระตั้วจึงเป็นหนึ่งในบรรดาที่มีนกที่มีการแสดงออกทางใบหน้ามากที่สุด โดยการแสดงออกทางใบหน้าของกระนกกระตั้ว Moluccan ตัวผู้ ไม่ว่าจะเป็นหงอน ขนใบหน้าและหูทั้งสองนั้นอาจเกิดขึ้นถึงครึ่งหนึ่งของความสูงของมัน


ความสามารถในการเลียนแบบ 

          นกกระตั้วเป็นนกที่พูดเก่ง มันมีความสามารถในการเลียนแบบคำพูด โดยมันมีทักษะในการเลียนแบบ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากมาจากความฉลาดของมันนั่นเอง นกกระตั้วยังสามารถถูกสอนให้เต้นรำตามจังหวะร้องเพลง เล่นโรลเลอเสก็ต หรือแม้แต่เล่นชักคะเย่อก็ได้

การปีนป่าย

          นกกระตั้วเกือบจะทุกสายพันธุ์ มีความสามารถในการปีป่ายที่ยอดเยี่ยม เพราะฉะนั้นควรจะเอาสิ่งของต่างๆ มาให้นกปีนเล่นบ้าง

การพักผ่อนและการนอนหลับ

          นกที่มีสุขภาพดีจะพักผ่อนและนอนหลับโดยยืนขาเดียว อีกขาหนึ่งก็จะซุกไว้ในขนของมัน จากนั้นมันจะสลัดขนที่ตัวให้ฟู แล้วมันก็จะหันหัวไปด้านหลังแล้วซุกหัวมันลงที่ขนด้านหลัง เมื่อมันหลับตา ตาของมันก็จะไม่ปิดสนิท

พฤติกรรมการกิน

          นกกระตั้วจะใช้ปากและลิ้นของมัน ช่วยในการเอาเปลือกของเมล็ดพืช ผลไม้และผักออก เหมือนๆกับนกทั่วไป นกตัวใหญ่ส่วนมากแล้วจะใช้เท้าของมันเป็นเหมือนมือ ใช้ถือเศษอาหารแล้วส่งอาหารเข้าปาก เมื่อนกจะดื่มน้ำจะใช้จะงอยปากล่างตักน้ำ จากนั้นก็จะเงยหน้าเพื่อกลืนน้ำเข้าไป

การบินของนก กระตั้ว 

          นกกระตั้ว มีความสามารถในการบินที่ยอดเยี่ยม ถ้าเลี้ยงนกโดยมัดหรือผูกล่ามมันไว้ ต้องฝึกและคอยกระตุ้นให้นกกระพือปีกบ้างทุกวันจนกว่านกจะบินได้ การฝึกแบบนี้จะช่วยกระตุ้นให้นกเกิดการเผาผลาญอาหารและป้องกันโรคดึงขนตัวเอง และการส่งเสียงร้องมากเกินกว่าปกติ



 การวิ่งและการกระโดด

          พื้นที่ราบหรือมีหญ้าขึ้นปกคลุมดีสำหรับเท้าของนกกระตั้วเวลาพวกมันหาอาหารบนพื้นดิน สังเกตเห็นว่านกกระตั้วมักจะวิ่งเล่นอยู่ในสวนนกหรือในกรรรงของมันเอง เวลานกวิ่งมันก็จะตั้งตัวตรง และเมื่อเวลามันกระโดด ลำตัวและหงอนของมันจะตั้งตัวตรงด้วยเช่นกัน

การออกกำลังกาย

          นกกระตั้วที่เลี้ยงโดยมัดเอาไว้ นกก็ยังสามารถขยับตัวหรือเคลื่อนไหวตลอดทั้งวัน ถ้าอยู่ในกรงพวกมันก็จะปีนป่ายและออกกำลังกายอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่ถ้าอยู่กลางแจ้งมันก็จะปีนป่าย คุ้ยเขี่ย กัดแทะของเล่นหรืออาหาร บินไปมา แต่ถ้าได้รับการฝึกนกก็สามารถเลียนแบบการกระทำต่างๆได้นกชนิดนี้มีชื่อเสียงมากทางด้านความคล่องแคล่วว่องไว มีนกกระตั้วหลายตัวที่สามารถถือของได้ ผลักรถของเล่นคันเล็กๆได้ กินอาหารจากช้อน และอื่นๆอีกมากมายที่นกสามารถทำได้

การคุ้ยเขี่ย 

          นกกระตั้วบางพันธุ์ชอบคุ้ยเขี่ย บนพื้น บนผ้า อย่างเช่น โซฟาหรือเก้าอี้ตัวที่ดูแน่นๆ พฤติกรรมแบบนี้ได้พัฒนาไปแล้ว เพราะพวกมันพบอาหารของตัวเองบนพื้น การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเป็นไปเพื่อการหาอาหาร จะเห็นว่านกมีจะงอยปากที่บางและจะงอยปากด้านบนยาวกว่าด้านล่าง ซึ่งเหมาะสมกับการขุดหาอาหารนั่นเอง

ความผูกพันต่อเจ้าของ 

          นกกระตั้วนั้นจะผูกพันกับผู้เลี้ยงมาก การแยกจากผู้เลี้ยงนั้นจะส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของนก ทำให้นกก้าวร้าว ผู้เลี้ยงจึงต้องให้ความสนใจเอาใจใส่ต่อนกเป็นประจำทุกวัน เมื่อนกกระตั้วผูกพันกับผู้เลี้ยงมากอาจก่อให้เกิดปัญหาดังนี้ 

          ความก้าวร้าวของนกซึ่งเกิดจากความอิจฉาและหวงเจ้าของอาจส่งผลทำให้นกทำร้ายผู้อื่นได้ นกกระตั้วที่ติดเจ้าของมาก อาจไม่ยอมหาคู่และไม่สามารถผสมพันธุ์ได้

ความขี้เล่นและเสียงร้อง

          นกกระตั้วเกือบทุกสายพันธุ์มีนิสัยขี้เล่นและมีความฉลาด นกกระตั้วสามารถเล่นเกมและออกกำลังกาย โดยการบิน การสะบัดตัว และสามารถใช้อุปกรณ์ต่างๆได้เอง โดยกิจกรรมเหล่านี้จะถูกปฏิบัติตลอดทั้งวัน โดยที่ผู้เลี้ยงไม่ขัดจังหวะ แต่จะมีการหยุดพักเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ทั้งนี้เพื่อว่านกจะมีภาวะทางอารมณ์คงที่ ขณะที่นกกำลังเล่นจะส่งเสียงร้องที่ดังมาก ซึ่งโดยมากนกสายพันธุ์นี้อาจเพิ่มความดังของเสียงร้องมากขึ้นได้

การอาบน้ำ 

          นกกระตั้วทุกตัวต้องอาบน้ำ มันจะกางปีกและแผ่ขนหาง ในขณะที่อาบน้ำมันจะบิดตัว หมุนตัวและตีปีก ด้วยเหตุนี้ขนของมันก็จะเปียกอย่างทั่วถึง

พฤติกรรมชอบความสบาย

          เกาหัว นกจะใช้เท้าเกาหัวตัวเองในขณะที่มันก้มหัวลง นกบางตัวจะใช้กิ่งไม้ช่วยในการเกา นกมีพฤติกรรมแปลกอยู่บ้าง คือความลังเลทำอะไรช้า อาการเกาหัวดูเหมือนใครบางคนว่ายน้ำอยู่มากกว่า พฤติกรรมแบบนี้มักจะพบในนกที่ยังไม่มีคู่ บาทีมันก็จะจับคู่กันแล้วไซ้ขนให้กัน

          การไซ้ขน นกกระตั้วจะไซร้ขนตัวเองวันละหลายครั้ง โดยใช้จะงอยปากดึงขนออกมาไซ้ที ละเส้นๆ การไซ้ขนเริ่มจากขนเส้นเล็กๆ ก่อน จากนั้นก็จะขัดขนส่วนหลักๆ ส่วนรองลงมาจนถึงขนที่หาง สุดท้ายจึงจะทำความสะอาดหัวและปาก





ที่มาข้อมูล http://pet.kapook.com/view2539.html

วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ข้อมูลเบื้องต้น

นกกระตั้ว (Cockatoo) เป็นนกประเภทปากคีม มีหลายสกุล ส่วนมากจะมีสีขาว บางชนิดมีสีเหลืองอ่อนแซมเล็กน้อย มีหงอน มีลิ้นและสามารถสอนให้พูดได้เหมือนนกแก้ว ชื่อ Cockatoo เป็นภาษามาเลย์แปลว่าคีมใหญ่ พบในแถบอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, นิวกินี, หมู่เกาะโซโลมอน และ ออสเตรียเลีย ชนิดที่มนุษย์จับมาเลี้ยงนั้นมีราคาสูง สกุลที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทยคือ กระตั้วมอลลัคคัน, กระตั้วอัมเบรลล่า และ กระตั้วซัลเฟอร์เครสต์ กระตั้วที่อยู่ตามธรรมชาติจะมีอายุขัยเพียง 20-30 ปีเท่านั้น แต่กระตั้วที่มนุษย์นำมาเลี้ยงจะมีอายุยืนถึง 60-80 ปี
คำว่า Cockatoo นั้นมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 จากคำว่า Kakatuwah เป็นภาษามาเลย์ แปลว่า พ่อเฒ่า หรือ คีมใหญ่ จากลักษณะปากของมันที่แข็งแรงและมีแรงกัดมหาศาล สามารถทำลายสิ่งต่าง ๆ ได้แม้กระทั่งเหล็กบาง ๆ


ลักษณะทางกายภาพ
กระตั้วเป็นนกที่มีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำตัวยาว 30-60 เซนติเมตร (12-24 นิ้ว) หนัก 300-1,200 กรัม (0.66-2.6 ปอนด์) มีหงอนบนหัวที่สามารถหุบและแผ่ได้ จะงอยปากสีดำใหญ่เหมือนคีม มีความคมและแรงกัดมหาศาล เท้าแต่ละข้างมีนิ้ว 4 นิ้ว ยาวและมีเล็บแหลม สามารถเกาะและปีนป่ายได้ดี


อนุกรมวิธาน
เดิมทีกระตั้วถูกจัดเป็นหนึ่งในวงศ์ย่อย Cacatuinae ของวงศ์นกแก้ว Psittacidae โดย จอร์จ โรเบิร์ต เกรย์ นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1840 โดยมีสกุล Cacatua เป็นสกุลต้นแบบ ก่อนจะถูกจัดแยกออกมาเป็นวงศ์เฉพาะในปี ค.ศ. 1990


การเลี้ยงกระตั้วในประเทศไทย
กระตั้วที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทยคือ กระตั้วมอลลัคคัน, กระตั้วอัมเบรลล่า, กระตั้วเกรทเตอร์ และ กระตั้วซัลเฟอร์เครสต์ โดยมีราคาสูงหลักหมื่นบาท กระตั้วที่มนุษย์เลี้ยงโดยป้อนอาหารให้กับมือจะมีความเชื่องมากกว่ากระตั้วที่ปล่อยให้แม่นกป้อนอาหารเองมาก และจะขายได้ราคาสูงกว่าด้วย กระตั้วเป็นนกที่มีนิสัยชอบร้องเสียงดัง ผู้อยู่อพาร์ทเมนท์ไม่ควรเลี้ยงอย่างเด็ดขาด กระตั้วมีนิสัยติดและหวงเจ้าของ จำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่และมีเวลาให้กับกระตั้วมาก ๆ หากปล่อยนกไว้ไม่มีใครสนใจจะทำให้กระตั้วหงุดหงิดและทำลายข้าวของ, ทำร้ายตัวเอง (กัดขาตัวเอง), ทำร้ายผู้คนที่เข้ามาใกล้ กระตั้วที่ผูกพันกับเจ้าของมากเกินไปอาจจะทำให้ไม่ยอมมีคู่และไม่ยอมผสมพันธุ์ได้




ที่มาของข้อมูล และอ่านเพิ่มเติม ...  http://th.wikipedia.org/wiki/นกกระตั้ว